COMME des GARÇONS ชื่อฝรั่งเศสสัญชาติญี่ปุ่น
COMME des GARÇONS ชื่อฝรั่งเศสสัญชาติญี่ปุ่น ถ้าพูดถึงดินแดนในโลกตะวันออกที่ได้รับการยอมรับและมีความก้าวหน้าในเรื่อง ‘แฟชั่น’ คงหนีไม่พ้นประเทศญี่ปุ่นที่มีความหลากหลายของสไตล์แฟชั่นและมีความพิเศษเฉพาะตัว แต่น่าแปลกที่เมื่อพูดถึงแบรนด์จากดินแดนแห่งนี้ที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในเวทีระดับโลก กลับมีอยู่เพียงไม่กี่แบรนด์เท่านั้นที่โดดเด่นหรือทัดเทียมกับแบรนด์จากโลกตะวันตก นับแล้วน้อยกว่าจำนวนนิ้วมือทั้งสองข้างรวมกันซะอีก
โดยหนึ่งในแบรนด์ญี่ปุ่นที่โดดเด่นและสร้างชื่อเสียงจนได้รับการยอมรับในเวทีโลกและถูกนึกถึงเป็นชื่อแรกๆ คือ COMME des GARÇONS แบรนด์อาว็องการ์ดชื่อฝรั่งเศสสัญชาติญี่ปุ่นที่มีสไตล์เสื้อผ้าแปลกประหลาด เต็มไปด้วยจินตนาการหลุดโลกล้นเหลือ จนบางครั้งกลับดูเหมือนเรากำลังมองงานศิลปะในรูปแบบเสื้อผ้ามากกว่า
แบรนด์เสื้อผ้าล้ำจินตนาการแบรนด์นี้มาจากฝีมือของ Rei Kawakubo ผู้ที่ครั้งหนึ่งถูกโลกตะวันตกขนานนามว่าเป็นขบถแฟชั่น จากคนที่ไม่มีความรู้เรื่องออกแบบเสื้อผ้าอะไรเลย แต่ใช้ความเชื่อของตัวเองผลักดันด้วยความมั่นคงแน่วแน่ จนอาณาจักรภายใต้ชื่อแบรนด์ของเธอมีมูลค่ากว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งหมดเริ่มต้นจากเรย์ คาวาคูโบะ เพียงคนเดียว
สิ่งที่น่าสนใจคืออะไรทำให้เรย์พา COMME des GARÇONS ก้าวมาอยู่ในจุดนี้ในขณะที่แบรนด์สัญชาติญี่ปุ่นจำนวนมากไม่อาจทำได้

เรย์เกิดที่โตเกียวเมื่อ 11 ตุลาคม 1942 เป็นลูกสาวคนโตและคนเดียวจากพี่น้องทั้งหมด 3 คน คุณพ่อเป็นผู้บริหารและคุณแม่เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษอยู่ที่มหาวิทยาลัย Keio ภายหลังเธอเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยดังกล่าวในสาขา Fine Arts ทั้งภาคญี่ปุ่นและตะวันตก หลังจบการศึกษาในปี 1964
เธอเริ่มต้นอาชีพการทำงานในแผนกโฆษณาประชาสัมพันธ์ในบริษัทเคมีภัณท์ชื่อ Asahi Kasei ที่ผลิตผ้าใยสังเคราะห์ ในที่ทำงานเธอเป็นคนเดียวที่ไม่ยอมใส่ชุดเหมือนพนักงานออฟฟิศทั่วไป ต่อมาในปี 1967 เธอเริ่มต้นทำงานฟรีแลนซ์ในฐานะแฟชั่นสไตลิสต์ตามคำแนะนำของรุ่นพี่ในที่ทำงาน
เธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ตอนที่ยังเป็นวัยรุ่นเธอไม่เคยคิดที่จะเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์หรืออะไรเลย เธอแค่ทำอะไรก็ตามที่เธอทำได้เพื่อหาเลี้ยงชีพ ในช่วงเวลานั้นสิ่งที่ทำให้เรย์แตกต่างจากคนอื่นๆ คือยามที่เธอไม่สามารถหาพร็อพเครื่องแต่งกายใดๆ ที่เข้ากับโจทย์ เธอจะเลือกออกแบบและตัดเย็บของชิ้นนั้นๆ ขึ้นมาเอง เธอจึงเริ่มมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้นจากความพิเศษดังกล่าว
ขณะเดียวกันเงินจากการทำงานสไตลิสต์ก็นำมาลงทุนทำเสื้อผ้า sportswear วางขายที่ร้านบูทีกที่ชื่อ BELLE BOUDOIR ย่านกินซ่า ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็น trend setting shop ชื่อดังในเวลานั้น ของที่เธอทำได้รับการตอบรับที่ดีและชื่อเสียงของเธอเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากสไตล์เสื้อผ้าของเธอ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของเรย์ในการเริ่มต้นทำแบรนด์เสื้อผ้าอย่างจริงจังในชื่อ COMME des GARÇONS

ที่มาของชื่อแบรนด์ COMME des GARÇONS นั้นเรย์ได้แรงบันดาลใจมาจากเนื้อเพลงของศิลปินหญิงชาวฝรั่งเศส Françoise Hardy จากเพลงที่ชื่อ Tous les garçons et les filles ในเนื้อเพลงท่อนที่กล่าวว่า ‘Comme les garçons et les filles de mon age’ ซึ่งมีความหมายว่า ‘like some boys’ หรือ ‘เหมือนเด็กผู้ชาย’
ด้วยความที่เธอเชื่อว่าผู้หญิงไม่มีความจำเป็นจะต้องใส่เสื้อผ้าเพื่อโชว์สรีระหรือใส่เสื้อผ้าเข้ารูปเสมอไป ไม่จำเป็นจะต้องแต่งตัวตามแบบแผน ความสวยงามของผู้หญิงควรอยู่นอกเหนือข้อจำกัดทางสรีระ นั่นจึงเป็นที่มาของแบรนด์ที่เธอก่อตั้งขึ้นในปี 1969 และจดทะเบียนบริษัทในปี 1973 ภายใต้ชื่อ COMME des GARÇONS Co.,Ltd. โดยในช่วงแรกๆ เธอทำเสื้อผ้าผู้หญิงเพียงอย่างเดียว ซึ่ง ณ เวลานั้นเธอยังมีผู้ช่วยแค่ 2-3 คนเท่านั้น และเริ่มต้นทำเสื้อผ้าที่ยังไม่ถูกเรียกว่าเป็นคอลเลกชั่นเต็มๆ

คอลเลกชั่นแรกของ COMME des GARÇONS เปิดตัวที่โตเกียวครั้งแรกในปี 1975 ก่อนที่จะเปิดร้าน COMME des GARÇONS สาขาแรกที่ย่านมานามิ-อาโอยาม่าในปีต่อมา โดยร้านดังกล่าวเธอทำงานร่วมกับสถาปนิก Takao Kawasaki (ผู้ออกแบบร้าน COMME des GARÇONS
เกือบทั้งหมดจวบจนถึงปัจจุบัน) ความพิเศษของร้านแรกของเธอคือทั้งร้านไม่มีกระจกให้ลูกค้าได้มองตอนลองเสื้อผ้าเลย เพราะเธอต้องการให้ลูกค้าให้ความสำคัญกับความรู้สึกตอนสวมใส่มากกว่าภาพที่มองผ่านกระจก
ในปี 1978 เธอเปิดตัว COMME des GARÇONS Homme ที่เป็นไลน์เสื้อผ้าผู้ชาย ก่อนที่จะตามมาด้วยไลน์เสื้อผ้าอื่นๆ อีกมากมายในเวลาต่อมา แบรนด์ของเธอเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมาก
ทำให้เธอกลายเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์หน้าใหม่ที่น่าจับตามอง ควบคู่ไปกับอีกหนึ่งตำนานของญี่ปุ่นอย่าง Yohji Yamamoto ที่ถือว่าอยู่ในรุ่นไล่เลี่ยกัน (ทั้งคู่เคยคบกันในช่วงยุค 80s-90s ก่อนจะแยกทางและเรย์ได้ไปแต่งงานกับ Adrian Joffe ที่อายุอ่อนกว่าถึง 10 ปีในปี 1992)
ในปี 1980 ออฟฟิศเธอมีพนักงานมากกว่า 80 คน มีร้านสาขาและตัวแทนจำหน่ายมากกว่า 150 แห่ง ทำรายได้เฉลี่ยต่อปีถึง 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สื่อมวลชนในประเทศและแฟนๆ ของแบรนด์ต่างนิยามตัวเธอว่าเป็น ‘The Crows’ หรือ ‘อีกา’ เพราะเธอเองมักจะปรากฏตัวโดยใส่เสื้อผ้าสีดำอยู่ตลอดเวลา เธอได้สร้างค่านิยมการใส่เสื้อผ้าสีดำให้กับผู้หญิงยุคใหม่ ณ เวลานั้น ต่อมาสีดำเลยกลายมาเป็นดีเอ็นเอที่สำคัญของ COMME des GARÇONS



เรย์ก้าวเข้าสู่เวทีแฟชั่นระดับโลกในเดือนเมษายน ปี 1981 ด้วยการเปิดตัวคอลเลกชั่นเสื้อผ้าผู้หญิงครั้งแรกที่กรุงปารีสพร้อมกับโยจิ ยามาโมโตะ และ Issey Miyake โดยเธอได้สร้างความฮือฮาให้กับวงการแฟชั่นระดับโลก สไตล์เสื้อผ้าที่เธอออกแบบเปลี่ยนขนบธรรมเนียมของแฟชั่นที่เคยเห็นกันในเวลานั้น
มันแปลกประหลาดแบบที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน ด้วยดีไซน์แหวกแนวแบบอาว็องการ์ดและโอเวอร์ไซส์ มีการตัดเย็บในแบบไม่สมมาตร และมีโทนสีโมโนโครม (ขาว เทา ดำ) ที่เล่นกับรูปแบบเนื้อผ้าที่ใช้แตกต่างกัน แพตเทิร์นก็ซับซ้อน ยุ่งเหยิง ดูไม่เรียบร้อย กลายเป็นกระแสและเป็นที่ถกเถียงในโลกแฟชั่นฝั่งตะวันตกอย่างกว้างขวางต่อผลงานของเธอ
ปีต่อมาเธอสร้างความฮือฮามากขึ้นไปอีก เมื่อเธอโชว์คอลเลกชั่น ‘Destroy’ ด้วยสไตล์เสื้อผ้าแบบ Neo-Gothic ที่โชว์เสื้อคลุมที่ยับยู่ยี่ เสื้อไหมพรมตัวโคร่งที่มีรูขาดขนาดใหญ่ ใช้เนื้อผ้าผสมหลากหลายประเภทที่มีเฉดสีดำแตกต่างกัน และยังคงคอนเซปต์เสื้อผ้าในแบบ unfinished เหมือนอย่างเคย
สื่อมวลชนตะวันตกบางคนวิจารณ์เสื้อผ้าของเธอเหมือน ‘เสื้อผ้าในยุคโลกาวินาศ’ บ้างก็วิจารณ์ไปถึงประเด็นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยประโยคที่นิยามเสื้อผ้าของเธอว่า ‘hiroshima chic’ หรือ ‘post-atomic’ และมองว่าสิ่งที่เธอทำนั้นเป็นการ ‘ขบถต่อโลกแฟชั่น’ (anti-fashion) ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงเสื้อผ้าหรือการใช้สีดำ



สื่อแฟชั่นในโลกตะวันตกวิจารณ์ผลงานของเรย์อย่างเละเทะไม่มีชิ้นดี และมองว่าแฟชั่นของเธอก่อให้เกิดความขัดแย้ง แต่เธอกลับไม่สนใจ เธอเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า การที่เธอมาที่ปารีสเพราะเธอตั้งใจที่จะนำเสนอความสวยงามและแข็งแกร่งในมุมมองของเธอก็เท่านั้น ต่างกันก็แค่มุมมองของเธอไม่เหมือนกับคนอื่น เหตุใดเธอจะต้องไปประนีประนอมกับเสียงวิจารณ์เหล่านั้น ในเมื่อเธอไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงความเชื่อของตัวเอง
ในขณะที่ความสวยงามของแฟชั่นในแบบฝรั่งเศสมีแนวทางสง่างามแบบ Yves Saint Laurent หรือ Chanel แต่เรย์ (รวมทั้งโยจิ ยามาโมโตะ) กลับตีความหมายของความสวยงามในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลกแฟชั่นตะวันตก
ความแตกต่างเหล่านี้สร้างความสนใจให้กับบรรดาร้านแฟชั่นบูทีกหัวก้าวหน้า เช่น Bergdorf Goodman และ Browns ที่เริ่มต้นขายเสื้อผ้าของ COMME des GARÇONS และมองว่านี่คือความสดใหม่ ก้าวหน้า แสดงออกถึงความแข็งแกร่งของผู้หญิงรุ่นใหม่ในแบบที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน

เสื้อผ้าที่ออกแบบโดยเรย์เริ่มสร้างค่านิยมใหม่ในโลกแฟชั่นยุค 80s และกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการหลุดออกจากกรอบแฟชั่นผู้หญิงแบบเดิมๆ บรรดาผู้หญิงที่อยู่ในสายวงการแฟชั่น บันเทิง ครีเอทีฟ และศิลปะ เริ่มใส่ COMME des GARÇONS เพราะมองว่าเสื้อผ้าของเรย์คือตัวแทนของผู้หญิงยุคใหม่ที่มีความมั่นใจและโมเดิร์นล้ำสมัย ไม่ได้นำเอาความเซ็กซี่มานำเสนอผ่านเสื้อผ้าอย่างที่ผ่านมา แต่เป็นเรื่องการสร้างรสนิยมและปลูกฝังความคิดแบบใหม่
หนึ่งในคอลเลกชั่นที่กลายเป็นไอคอนและถูกกล่าวถึงมากที่สุดที่ผ่านมาของเรย์คือ Spring/Summer 1997 ที่ชื่อ ‘Body Meets Dress, Dress Meets Body’ โดยเรย์ออกแบบเสื้อผ้าที่เสริมยัดฟองน้ำเอาไว้ตามส่วนต่างๆ ก่อให้เกิดฟอร์มที่บิดเบี้ยวปูดโปนออกมา ดูแปลกประหลาดและน่าตกใจในเวลาเดียวกัน แล้วเลือกใช้ผ้าลายตารางหมากรุก Gingham
สีสันต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่เน้นสีดำเป็นหลัก จากชุดเสื้อผ้าที่แปลกประหลาดเหมือนเอาหมอนนุ่นยัดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย สื่อสายแฟชั่นวิจารณ์ผลงานของเธอว่าเหมือน ‘คนท้อง’ หรือ ‘เนื้องอก’ บ้างก็ตีความไปถึงการล้อเลียนรูปร่างของผู้หญิงหรือคนพิการ ในขณะที่เรย์ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องแรงบันดาลใจในการออกแบบเอาไว้ว่า ร่างกายของคนเราไม่ควรจะมีข้อจำกัดเรื่องรูปร่างที่บ่งบอกว่าแบบไหนดีหรือไม่ดี ตัวเธอเองมองข้ามข้อจำกัดเหมารวมดังกล่าว และนำเสนอความแข็งแกร่งของรูปร่างผ่านเสื้อผ้าในมุมมองที่แตกต่างออกไป
เธอมองว่าเสื้อผ้าก็คือส่วนหนึ่งของร่างกาย และร่างกายเราเองก็ถือเป็นเสื้อผ้าเช่นเดียวกัน คอลเลกชั่นเสื้อผ้าดังกล่าวถูกเรียกในอีกชื่อว่า ‘Lumps and Bumps Show’ และได้กลายมาเป็นหนึ่งในผลงานไอคอนของเรย์ที่กล้านำเสนอมุมมองต่อร่างกายในอีกรูปแบบที่แตกต่างและล้ำสมัยจวบจนปัจจุบัน


แต่ละคอลเลกชั่นของเรย์มีแรงบันดาลใจที่แตกต่างกันไป แต่โดยส่วนใหญ่จะมีวัฒนธรรมกบฏอย่างพังก์เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้ผ้าลายสก๊อต หมุดเหล็ก การใช้วัสดุอย่างหนังหรือการตัดเย็บที่ดูเหมือน D.I.Y รวมไปถึงรูปแบบเสื้อผ้าที่แปลกประหลาดและเทคนิคตัดเย็บแบบพิเศษที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ในขณะเดียวกันก็เอาเทรนด์แฟชั่นที่ได้รับความนิยมในขณะนั้นมาผสมผสานและตีความในรูปแบบใหม่ด้วย
นอกจากนั้นวิธีการนำเสนอคอลเลกชั่นต่างๆ ของเรย์ยังแตกต่างจากคนอื่นๆ เช่น การแต่งหน้านางแบบให้ซีดๆ ทำผมยุ่งเหยิง เชิญเพื่อนสนิทหรือคนรู้จักมาเดินแบบ ในอดีตก็เช่น ศิลปินอย่าง Jean-Michel Basquiat และ Robert Rauschenberg
แม้กระทั่งดีไซเนอร์ชื่อดังอย่าง Alexander McQueen รวมไปถึงรูปแบบการนำเสนอหรือโฆษณาของ COMME des GARÇONS ที่มีเรย์เป็นคนดูแลภาพรวมทั้งหมดก็มีรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ ในขณะนั้น
จากผลงานทั้งหมด เธอจึงกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้แฟชั่นดีไซเนอร์รุ่นหลังๆ มากมาย เช่น Martin Margiela, Helmut Lang, Marc Jacobs, John Galliano, Ann Demeulemeester หรือแม้กระทั่ง Miuccia Prada ก็มีเธอเป็นแรงบันดาลใจเช่นกัน







จากเด็กหญิงที่เกิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สวมถุงเท้าย่นกองข้อเท้าสวนทางกับคนอื่นที่แต่งตัวตามระเบียบ เพียงเพราะอยากจะเป็นตัวของตัวเอง เธอได้เปลี่ยนโลกของแฟชั่นในรูปแบบที่ตัวเองยึดมั่นและหลุดออกจากกรอบวัฒนธรรมแสนจำเจแม้ต้องพบเจอกับความล้มเหลวตั้งแต่ที่ก้าวย่างออกไป จนวันนี้กลับกลายมาเป็นขบถที่ปฏิวัติโลกแฟชั่น สร้างผลงานเฉพาะตัวที่ยากจะมีคนเลียนแบบ ขึ้นแท่นเป็นตำนานที่ยังมีชีวิต และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่มากมาย
ที่สำคัญคือเธอได้รับการยอมรับนับถือไปทั่วโลก แม้แต่โลกตะวันตกที่เคยมองข้ามเธอ และ COMME des GARÇONS ของเรย์จะไม่หยุดแต่เพียงเท่านี้แน่นอน
บทความอื่นๆ Nike กับความยั่งยืนจากวงการแฟชั่น