olarpunk แนวคิดต่อต้านอนาคตอันห่วยแตก
olarpunk แนวคิดต่อต้านอนาคตอันห่วยแตก ในอีก 100 ปีข้างหน้า คุณจินตนาการโลกและมนุษย์ไว้ยังไง? เวลาเราดูหนังไซ-ไฟหรืออ่านนวนิยายไซ-ไฟที่จินตนาการถึงโลกอนาคต บรรยากาศในเรื่องมักเต็มไปด้วยความรู้สึกสิ้นหวังไร้ทางออก
หนังหรือนวนิยายเหล่านั้นมักเป็นธีมดิสโทเปียซึ่งสะท้อนความสิ้นหวังในมนุษยชาติ เราได้เห็นตัวละครอาศัยอยู่ในโลกที่เสื่อมโทรม ถูกปกครองด้วยรัฐบาลเผด็จการเบ็ดเสร็จ มีปัญหาทั้งประชากรล้นโลก ธรรมชาติผุพัง สภาพอากาศแปรปรวน ระบบนิเวศล่มสลาย สัตว์และพืชสูญพันธุ์ไปหมดสิ้นจนเหลือแค่ภาพในไมโครชิปให้นึกถึง
โลกอนาคตในหนังหรือนิยายดิสโทเปียมักเป็นดินแดนที่อากาศเป็นพิษ ไม่ก็น้ำท่วมหรือต้องเผชิญสภาวะหนาวเย็นเหมือนยุคน้ำแข็ง สังคมเต็มไปด้วยอาชญากรรม เกิดสงครามจากการแก่งแย่งชิงทรัพยากร อารยธรรมเสื่อมโทรมล่มสลายลงไป ฯลฯ
แล้วคุณนึกภาพออกไหมว่า หากมนุษยชาติมีสติปัญญาในการร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหา ร่วมกันสร้างโลกอนาคตในเวอร์ชั่นน่าอยู่ สะอาด สันติ และปลอดภัยได้สำเร็จ
หากวันนั้นมาถึง โลกและสังคมของเราจะมีหน้าตาเป็นยังไง?
Solarpunk แนวคิดต่อต้านดิสโทเปียอันห่วยแตกด้วยภาพโลกอนาคตที่ดีเหลือเชื่อ
เมื่อโลกอนาคตมักจะมาพร้อมภาพจำอันน่าสะพรึงกลัวและน่าหดหู่ จึงเกิดแนวคิดที่ต่อต้านภาพจำของ shitty future หรืออนาคตแสนห่วยแตกด้วยการวาดภาพอนาคตในแบบที่เราอยากเห็น ซึ่งแตกต่างไปจากโลกอนาคตแบบดิสโทเปียที่เราคุ้นเคย จนเกิดเป็นภาพวาด สถาปัตยกรรม นวนิยาย และความเคลื่อนไหวทางสังคม มูฟเมนต์อันแสนจะครีเอทีฟนี้เรียกว่า ‘solarpunk’
Solarpunk มาจากคำว่า solar (แสงอาทิตย์) + punk (พังก์) คำแรกสะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นในพลังงานแสงอาทิตย์ คนที่ยึดถือแนวคิด solarpunk นั้นฝันเห็นสังคมที่ก้าวพ้นจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างสมบูรณ์ โลกทั้งใบเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนที่ไม่หมดสิ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม ส่วนพังก์คือคติของความแข็งกร้าวกับระบบในโลกที่เป็นอยู่ ต่อต้านกันแบบถอนรากถอนโคน หรือเป็นการต่อต้านโลกผ่านโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure as a form of resistance.)
เมื่อมารวมกันแล้ว คำถามสำคัญที่แนวคิดแบบ solarpunk อยากให้ทุกคนลองคิดตามคือ หากมนุษย์สามารถแก้วิกฤตการณ์ภาวะโลกร้อนได้สำเร็จ ถ้าเรามีโลกอนาคตที่ขจัดปัญหาในยุคปัจจุบันได้หมดจด–โลกแบบนั้นจะมีหน้าตาเป็นยังไง?
แนวคิดความเคลื่อนไหวและสุนทรียภาพแบบ solarpunk มักมีค่านิยมดังนี้
- เชื่อในพลังงานหมุนเวียนร้อยเปอร์เซ็นต์
- ใส่ใจโลก ระบบนิเวศ การอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตอื่นนอกจากมนุษย์ ทั้งสัตว์และต้นไม้ แคร์ความหลากหลายทางชีวภาพ
- เชื่อในไลฟ์สไตล์ที่ยั่งยืน ดีต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เลือกจะซ่อมมากกว่าซื้อใหม่ การเลือกซื้อของที่ใช้ได้ยาวนานมากกว่าใช้แล้วทิ้ง
- เบื่อหน่ายในสถานการณ์ที่เลวร้ายสิ้นหวังของโลกที่อับจนหนทาง จนเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้
- เชื่อในการร่วมมือกันของมนุษย์ ใส่ใจและสนับสนุนความเคลื่อนไหวทางสังคม
- ยังไม่หมดหวังในมนุษยชาติและเชื่อว่ามนุษยชาติจะปรับตัวไปสู่อนาคตที่ดีได้
หากเชื่อในค่านิยมเหล่านี้ เราก็อาจนับตัวเองเป็นสมาชิกชาว solarpunk ได้ ซึ่งอันที่จริงพวกเขาก็มีคอมมิวนิตี้ออนไลน์ไว้แลกเปลี่ยนกันทั้งในเรื่องไลฟ์สไตล์รักโลก แชร์ภาพวาด ในขณะเดียวกันก็วิจารณ์การเมือง สังคม และระบบเศรษฐกิจไปพร้อมกัน

ชาว solarpunk นั้นเชื่อในความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ไปพร้อมๆ กับสรรเสริญความเป็นมนุษย์ แม้จะใฝ่ฝันถึงเทคโนโลยีที่ก้าวไกลจนมนุษย์ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากแหล่งพลังงานฟอสซิล ทว่าสังคมอุดมคติแบบ solarpunk นั้นไม่ได้เป็นอนาคตที่แห้งแล้งที่ดำเนินไปด้วยหุ่นยนต์ แต่มองว่ามนุษย์ในอนาคตจะให้ความสำคัญกับความเป็นชุมชน และเชื่อมั่นว่ามนุษย์อันหลากหลายจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติในบรรยากาศพหุวัฒนธรรม
ส่วนในเรื่องสุนทรียภาพ รสนิยมในแบบ solarpunk มองเห็นอนาคตที่มนุษย์จะมีเวลาว่างมาแสวงหาความสุข เย็บปักถักร้อย ผลิตของใช้เองแบบ DIY ซ่อมของพังให้ใช้ได้นานๆ ชาว solarpunk ให้ความสนใจวิธีคิดแบบ permaculture หรือ permanent agriculture แนวคิดของ Bill Mollison ที่เน้นออกแบบพื้นที่โดยคำนึงถึงความหลากหลายและระบบนิเวศโดยรวมของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
ฉะนั้น สถาปัตยกรรมแบบ solarpunk จึงไม่ใช่การกลับไปอยู่ในกระท่อมกลางไร่กลางป่า แต่เป็นเมืองที่มีตึกสูง เต็มไปด้วยต้นไม้ ตกแต่งด้วยศิลปะแบบอาร์ตนูโว มีส่วนโค้งเว้า มีการประดับประดาด้วยลายเถาวัลย์อันชดช้อยพลิ้วไหว ชวนให้เพลิดเพลินตา ฟังแล้วช่างดูเป็นฝันอันไม่น่าเชื่อ ต่างจากภาพจำของโลกอนาคตอันแห้งแล้งในหนังไซ-ไฟที่มักจินตนาการว่ามนุษย์ในอนาคตจะเป็นเพียงเครื่องจักรกลในอุตสาหกรรมของระบบใหญ่อันไร้จิตใจ หรือถูกรันด้วยระบบอันซับซ้อนของปัญญาประดิษฐ์ที่ไร้อารมณ์
แนวคิดของโลกอนาคตที่คนรุ่นต่อไปจะไม่สาปส่งเรา
ท่ามกลางความสิ้นหวังของโลกปัจจุบัน solarpunk ชวนเราฝันถึงอนาคตอีกแบบที่อยากให้ลูกหลานของเราอยู่ เป็นสุนทรียภาพที่ไม่ได้ชวนเราหนีจากความจริงของโลกปัจจุบัน แต่เป็นแนวคิดที่เชื่อว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและความสามารถของมนุษย์จะนำเราไปสู่โลกข้างหน้าที่สะอาด สงบสุข ปลุกใจให้เราคิดในระยะยาว เลือกทางที่คนรุ่นต่อไปจะขอบคุณเรา
แนวคิดนี้เริ่มขึ้นครั้งแรกในช่วงปี 2008 จากบทความ From Steampunk to Solarpunk โดย Republic of the Bees บล็อกเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเมือง โดยเริ่มเผยแพร่ภาพใน Tumblr และค่อยๆ แพร่หลายในโซเชียลมีเดียหลากหลายช่องทาง แต่จนถึงตอนนี้แนวคิดของ solarpunk ก็นับว่าไม่ได้ถูกกระจายในวงกว้างมากนัก สังเกตได้จากแฮชแท็ก #solarpunk ในอินสตาแกรมที่ยังมีภาพเพียง 17,000 ภาพเท่านั้น

นอกจากภาพวาด แนวทางสุนทรียภาพที่มองโลกอย่างสว่างสดใสท่ามกลางความเศร้าหมองสิ้นหวังของชีวิตปัจจุบันยังปรากฏในเพลย์ลิสต์และนิยายหลายเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น เพลย์ลิสต์นี้ใน Spotify ที่ประกอบไปด้วยเพลงหลายประเภทจากหลากภาษาซึ่งต่างมีจุดร่วมคือเสียง upbeat ชวนให้รู้สึกคึกคักเบิกบานใจ
ส่วนฝั่งนิยาย หนึ่งในนวนิยายที่โดดเด่นและเป็นแรงบันดาลใจให้แนวคิด solarpunk คือ Island ของ Aldous Huxley ซึ่งเคยเขียนหนังสือดิสโทเปียเล่มสำคัญที่หลายคนพอคุ้นเคยอย่าง Brave New World (1932) ในเรื่องนั้นฮักซ์ลีย์ได้วาดภาพโลกอนาคตแบบดิสโทเปียซึ่งถูกปกครองโดยเผด็จการเบ็ดเสร็จ รัฐควบคุมและสอดส่องประชาชน ในขณะที่ Island วาดฝันถึงโลกอนาคตที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ในนิยายไซ-ไฟเรื่องนี้ฮักซ์ลีย์จินตนาการถึงชุมชนปกครองตนเองบนเกาะ Pala อันห่างไกล ในเกาะนี้ไม่มีใครเป็นเจ้าของสิ่งใด เด็กที่เกิดมาในเกาะนี้คือบุตรของทุกคนที่ร่วมกันดูแล (Mutual Adoption Club) ซึ่งจะได้เรียนรู้ทั้งวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนานิกายมหายานที่ชวนให้มีสติ แถมเกาะนี้ยังเต็มไปด้วยนกขุนทองที่โบยบินอยู่ทุกหนแห่ง คอยร้องบอกให้ผู้คนมี “สติ” และ “เมตตากรุณา” อยู่เสมอ
ความพิเศษคือหนังสือเล่มนี้เป็นจินตนาการสุดท้ายที่ฮักซ์ลีย์ได้ฝากไว้กับโลก เป็นหนังสือเล่มสุดท้ายก่อนเขาเสียชีวิตที่ชวนให้ผู้อ่านร่วมฝัน แม้ฟังดูเป็นฝันอันห่างไกลจากความจริงที่เราเผชิญ
พังก์ไม่ใช่สไตล์ แต่คือการขบถต่ออำนาจ
Solarpunk นั้นมองโลกในแง่ดี วาดภาพอนาคตสว่าง สะอาด สวยงามเหลือเชื่อจนดูไม่น่าจะเข้าพวกกับคำว่าพังก์แบบที่เรารู้จัก ซึ่งมักจะมีภาพจำของความดิบเถื่อน ก้าวร้าว มีการตะโกนเสียงดัง
นั่นอาจจะจริง เพราะ solarpunk คือพี่น้องที่แตกต่างกันสุดขั้วกับนิยามของสุนทรียภาพที่หลายคนคุ้นหูกันอย่าง steampunk (ภาพจินตนาการของอนาคตที่เกิดในยุควิกตอเรียน) หรือ cyberpunk (แนวทางภาพอนาคตที่แสนไฮเทคแต่คุณภาพชีวิตต่ำ) ถึงกระนั้นแนวคิดสำคัญของความเป็น “พังก์” ที่ทุกแนวคิดมีร่วมกันไม่ใช่สไตล์ที่จัดจ้านดังภาพจำ แต่พังก์หมายถึงจิตใจของการขบถที่ต่อต้านอำนาจต่างหาก
อ้างอิงตามปณิธาน Solarpunk: Notes toward a manifesto ของ Adam Flynn ในปี 2014 ซึ่งอธิบายว่า “solarpunk คือการต่อต้านด้วยโครงสร้างพื้นฐาน คือขบถต่อระบบที่เป็นอยู่ และปฏิปักษ์กับภาพวาดอนาคตอันห่วยแตกสิ้นหวัง”
พวกเขาคือผู้มองโลกในแง่ดีอย่างสุดขั้ว (radical positivist) ที่กล้าฝันถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรุนแรง การปฏิวัติที่เขย่าทุกอย่างให้เข้าที่เข้าทางจนได้มาซึ่งอนาคตที่ดีเหลือเชื่อ เปลี่ยนวิธีการได้มาซึ่งพลังงาน เปลี่ยนการกระจายพลังงาน เปลี่ยนหน้าตาสถาปัตยกรรม เปลี่ยนค่านิยม วิถีชีวิต เปลี่ยนการได้มาซึ่งอาหารและวิธีการกำจัดขยะ รวมไปถึงสรรเสริญการมีส่วนร่วมในชุมชน ท้ายที่สุดแล้ว solarpunk อาจสร้างภาพวาดให้เราได้ฝันและเห็นปลายทางร่วมกันว่าอยากส่งต่อโลกแบบไหนให้กับคนรุ่นต่อจากเราที่สำคัญกว่าความสำเร็จส่วนตัว
แนวคิด solarpunk กำลังบูมขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเมื่อสถานการณ์โรคระบาดได้คลี่คลายลงในหลายๆ ส่วนของโลก ผู้คนก็เริ่มกลับมาตั้งคำถามกับโลกที่เขาอาศัยอยู่ ปลุกความเชื่อมั่นในความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีว่าจะแก้ไขวิกฤตการณ์ต่างๆ ของโลกได้ แม้กระทั่งใน The New York Times ก็เพิ่งมีบทความ The Wind and Solar Boom Is Here ที่ชวนมองว่ายุคแห่ง fossil fuels กำลังจะจบสิ้นลงไป พลังงานลมและแสงอาทิตย์กำลังจะเบ่งบาน แม้มองไปรอบตัวตอนนี้จะยังดูอีกไกล แต่ก็ชวนให้เรามีความหวัง
สิ่งที่ solarpunk มอบให้ทุกคนคือแรงบันดาลใจให้เราต่อสู้เพื่อระบบและสังคมที่ดีกว่า ทำให้เราต่อต้านการยินยอมและต่อต้านภาพอนาคตอันห่วยแตกที่เราไม่อยากให้คนรุ่นถัดไปต้องเกิดมารับรู้ และมีกำลังใจออกไปประท้วงส่งเสียงเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง
แม้จะดูเหลือเชื่อเกินจริง แต่ solarpunk คือภาพจำลองและเสียงสะท้อนเล็กๆ ว่ายังมีคนที่ไม่หมดหวังในมนุษยชาติและอนาคตอันสดใส แม้จะห่างไกลเหลือเกิน
บทความอื่นๆ การพิสูจน์ตัวเองกับตัวเองนั้นสาหัสมากพอแล้ว